วันเสาร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ความหมายของภาษีอากร

ความหมายของภาษีอากร

แบ่งได้เป็น 2 แนว

แนวที่หนึ่ง
ภาษีอากร คือ สิ่งที่รัฐบาลบังคับเก็บจากราษฎร และ นำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยมิได้มีสิ่งตอบแทนโดยตรงแก่ผู้เสียภาษีอากร



แนวที่สอง
ภาษีอากร คือ เงินได้หรือทรัพยากรที่เคลื่อนย้าย จากภาคเอกชนไปสู่ภาค
รัฐบาล แต่ไม่รวมถึงการกู้ยืมหรือขาย
สินค้า หรือให้บริการในราคาทุนโดยรัฐบาล

วัตถุประสงค์ในการเก็บภาษีอากร

วัตถุประสงค์ในการเก็บภาษีอากร

1.เพื่อเป็นรายได้ให้รัฐบาล

2.เพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐบาล

- ในการกระจายรายได้
- ในการส่งเสริมความเจริญเติบโตธุรกิจการค้า
- ในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
- ช่วยควบคุมการบริโภคของประชาชน
- เพื่อสนองนโยบายบางประการของรัฐบาล


เช่น การศึกษา การสวัสดิการสังคม และ นโยบายประชากร

ลักษณะของภาษีอากรที่ดี

ลักษณะของภาษีอากรที่ดี
รัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับมักบัญญัติให้ประชาชนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ ในการบัญญัติกฎหมายภาษีอากรที่ดีนั้น มีหลักการบางประการที่ควรคำนึงถึง เพื่อให้ประชาชนมีความสมัครใจในการเสียภาษีอากร และให้กฎหมายดังกล่าวใช้บังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาษีอากรที่ดีควรมีลักษณะดังนี้

1. มีความเป็นธรรม
โดยพิจารณาถึง
- ความสามารถในการเสียภาษีอากรของประชาชน
- ผลประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ เนื่องจากการดูแล คุ้มครองของรัฐบาล


2. มีความแน่นอนและชัดเจน
- ประชาชนสามารถเข้าใจความหมายได้โดยง่าย
- มีความชัดเจนเพื่อป้องกัน มิให้เจ้าพนักงานใช้ อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ


3. มีความสะดวก
วิธีการและกำหนดเวลาในการเสียภาษีอากร
ควรต้องคำนึงถึงความสะดวกของผู้เสียภาษีอากร


4. มีประสิทธิภาพ
ประหยัดรายจ่ายทั้งของผู้จัดเก็บและผู้มีหน้าที่เสียภาษี
อากร ทำให้จัดเก็บภาษีอากรได้มาก โดยมีค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บน้อยที่สุด


5. มีความเป็นกลางทางเศรษฐกิจ
การเก็บภาษีอากร ต้องไม่มีผลกระทบต่อการทำงานของกลไกตลาด หรือมีผลกระทบน้อยที่สุด


6. อำนวยรายได้
สามารถจัดเก็บภาษีอากรได้เพียงพอต่อการใช้จ่าย ของรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลนำไปใช้ตามหน้าที่


7. มีความยืดหยุ่น
สามารถปรับปรุงเพิ่มหรือลดจำนวนภาษีอากร
ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

โครงสร้างของกฎหมายภาษีอากร

โครงสร้างของกฎหมายภาษีอากร

กฎหมายภาษีอากรทุกฉบับ มีหัวข้อสำคัญอันเป็นโครงสร้างหลักของกฎหมาย แบ่งเป็น 6 หัวข้อคือ

1. ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร
หรือผู้อยู่ในข่ายเสียภาษีอากร จะเป็นใครแล้วแต่ กฎหมายนั้นๆ จะกำหนด แต่โดยทั่วไป ได้แก่
บุคคลธรรมดา และหรือ นิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย


2. ฐานภาษีอากร

มี 2 ความหมาย
ความหมายอย่างกว้าง: สิ่งที่เป็นมูลเหตุให้ต้องเสียภาษีอากร เช่น การมีรายได้, การมีทรัพย์สิน
หรือการใช้จ่าย
ความหมายอย่างแคบ: สิ่งที่รองรับอัตราภาษีอากร ภาษีที่ต้องเสีย = ฐานภาษีอากร x อัตราภาษีอากร


3. อัตราภาษีอากร

แบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ
แบบคงที่: อัตราภาษีอากรไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าจำนวนของฐาน ภาษีอากรจะเปลี่ยนแปลงไป
เช่น อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ~ 30%, 10% และ อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ~ 7%
แบบก้าวหน้า: อัตราภาษีอากรเพิ่มขึ้น เมื่อฐานภาษีอากรมีจำนวน เพิ่มขึ้น

เช่น อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 5% - 37%

แบบถดถอย: อัตราภาษีอากรลดลง แม้ว่าจำนวนของฐานภาษีอากร จะเพิ่มขึ้น

เช่น อัตราภาษีบำรุงท้องที่

4. การประเมินจัดเก็บภาษีอากร

มีหลายวิธี

  • การประเมินตนเอง ภาษีอากรส่วนใหญ่ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรเป็นผู้ดำเนินการประเมินตนเอง แล้วยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีอากร ตามจำนวนที่พึงต้องชำระ
  • เจ้าพนักงานประเมิน หากว่าผู้มีหน้าที่เสียภาษีประ
    เมินตนเองไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ เจ้าพนักงานก็มีอำนาจประเมินให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร ต้องรับผิดชำระเงินเพิ่ม และหรือ เบี้ยปรับเพิ่มขึ้น นอกเหนือ จากภาษีอากรที่ต้องเสีย
  • การหักภาษี ณ ที่จ่าย หลายกรณี กฎหมายกำหนด ให้ผู้จ่ายเงินได้เป็นผู้ดำเนินการหักภาษีจากจำนวนเงินที่จ่าย แล้วนำส่งต่อเจ้าพนักงานภายในกำหนด เวลา ภาษีที่ถูกหักไว้นี้ มักถือเป็นเครดิตของผู้มีหน้าที่เสียภาษีเมื่อถึงกำหนดเวลา หรือ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอาจได้รับเงินคืน ถ้าภาษีที่ถูกหักไว้เกินกว่าจำนวนภาษีที่พึงต้องเสีย


5. การอุทธรณ์ภาษีอากร
กรณี เกิดปัญหาข้อขัดแย้งพิพาทกัน เกี่ยวกับข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย ระหว่างผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรและผู้จัดเก็บภาษีอากร เกี่ยวกับจำนวนภาษีอากรที่ต้องเสีย หรืออำนาจการประเมินเรียกเก็บภาษีอากร หากผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรต้องการ ให้มีการพิจารณาทบทวนใหม่ กฎหมายมักกำหนด ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีหาข้อยุติให้ครบถ้วนก่อน มิฉะนั้นผู้เสียภาษีอากรอาจเสียสิทธิในการนำคดีขึ้นสู่ศาลได้


6. เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และโทษ

ผู้ไม่ชำระภาษีอากร จะต้องรับผิดในจำนวนภาษีอากรที่ไม่ชำระ พร้อมด้วยเบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่ม ถ้าฝ่าฝืนไม่ยอมชำระ กฎหมายมักให้อำนาจเจ้าพนักงานดำเนินการยึดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากรไปขายทอดตลาด เพื่อนำเงินไปชำระภาษีอากรค้างได้โดยไม่ต้องฟ้องศาล นอกจากนี้ อาจต้องรับโทษทางอาญา เช่น เสียค่าปรับ และหรือ ต้องระวางโทษจำคุกด้วย






วันศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ประเภทของภาษีที่ควรทราบ

ประเภทของภาษีที่ควรทราบ

แบ่งออกเป็น 6 ภาษี

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา..... คือ ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไป หรือจากหน่วยภาษีที่มีลักษณะพิเศษ ตามที่กฎหมายกำหนดและมีรายได้เกิดขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยปกติจัดเก็บเป็นรายปี รายได้ที่เกิดขึ้นในปีใดๆ ผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องนำไปแสดงรายการตนเองตามแบบแสดงรายการภาษีที่กำหนดภายในเดือนมกราคมถึงมีนาคมของปีถัดไป

-ใครมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา?
1) บุคคลธรรมดา
2) ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
3) ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
4) กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง

- เมื่อมีเงินได้เกิดขึ้นแล้วผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะต้องทำอะไรบ้าง?
1. ขอมีเลขและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีเงินได้เกิดขึ้น ผู้มีเงินได้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร อาจยื่นคำร้อง ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้ง 16 แห่ง หรือ สำนักสรรพากรพื้นที่สาขา(อำเภอ)ทุกแห่งสำหรับในต่างจังหวัดยื่นคำขอได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่(จังหวัด)และสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา(อำเภอ)ทุกแห่งแล้วแต่กรณี
2. ยื่นแบบแสดงรายการปกติปีละ 1 ครั้ง เงินได้ของปีใดก็ยื่นแบบฯ ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไป เว้นแต่เงินได้บางลักษณะ เช่น การให้เช่าทรัพย์สิน เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เงินได้จากการรับเหมา เงินได้จากธุรกิจการพาณิชย์ เป็นต้น จะต้องยื่นแบบฯ ตอนกลางปี สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นใน 6 เดือนแรก ภายในเดือนกันยายนของปีนั้นก่อนการยื่นภาษีประจำปีตามปกติ

-เงินได้อะไรบ้างที่ต้องเสียภาษี?
ตามกฎหมาย เงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เรียกว่า "เงินได้พึงประเมิน" หมายถึง เงินได้ของบุคคลใดๆ หรือหน่วยภาษีใดข้างต้นที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม ของปีใดๆ หรือเงินได้ ที่เกิดขึ้นในปีภาษี ได้แก่
  • เงิน
  • ทรัพย์สินซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน ที่ได้รับจริง
  • ประโยชน์ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน (เกณฑ์เงินสด)
  • เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้
  • เครดิตภาษีตามที่กฎหมายกำหนด

-ถ้าไม่ชำระในกำหนดเวลาหรือชำระไม่ถูกต้องจะมีความรับผิดอย่างไรบ้าง?

1. กรณีไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา จะต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระนั้น นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี เว้นแต่กรณีที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร ให้ขยายกำหนดเวลาชำระภาษีได้ เงินเพิ่มเสียร้อยละ 0.75

2. กรณีเจ้าพนักงานตรวจสอบออกหมายเรียก และปรากฏว่ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้หรือยื่นแบบแสดงรายการไว้ แต่ชำระภาษีขาดหรือต่ำไป นอกจากจะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มตามข้อ 1 แล้ว ยังจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่า หรือ 2 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี เงินเบี้ยปรับดังกล่าวอาจลดหรืองดได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี


2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นภาษีอากรประเภทหนึ่งที่บัญญัติไว้ ในประมวลรัษฎากร จัดเก็บจากเงินได้ของบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหลักการจัดเก็บที่สำคัญๆ โดยลำดับดังนี้

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ และหมายความรวมถึงนิติบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ด้วย ดังนี้

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล มีดังนี้

(1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ได้แก่

  • บริษัท จำกัด
  • บริษัทมหาชน จำกัด
  • ห้างหุ้นส่วนจำกัด
  • ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน

(2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ก็ต่อเมื่อเข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  • บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศนั้น เข้ามากระทำกิจการในประเทศไทย
  • บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศนั้น กระทำกิจการในที่อื่นๆ รวมทั้งในประเทศไทย
  • บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศนั้น กระทำกิจการอื่นๆรวมทั้งในประเทศไทยและกิจการที่กระทำนั้นเป็นกิจการขนส่งระหว่างประเทศ
  • บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศนั้น มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้
  • บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ได้จำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นที่กันไว้จากกำไร หรือถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย
  • บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศนั้น มิได้เข้ามาทำกิจการในประเทศไทยโดยตรง หากแต่มีลูกจ้างหรือผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อ ในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย

(3) กิจการซึ่งดำเนินการเป็นทางค้า หรือหากำไร โดย

  • รัฐบาลต่างประเทศ
  • องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ
  • นิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ

(4) กิจการร่วมค้า (Joint Venture) ได้แก่ กิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางค้าหรือหากำไร ระหว่างบุคคลดังต่อไปนี้คือ

  • บริษัทกับบริษัท
  • บริษัทกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
  • ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
  • บริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา
  • บริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
  • บริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนสามัญ
  • บริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับนิติบุคคลอื่น

(5) มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล

(6) นิติบุคคลที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร

นิติบุคคลที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้

นิติบุคคลอื่นๆ นอกจากที่กล่าวในข้างต้น และเฉพาะที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เช่น กระทรวง ทบวง กรม องค์การ ของรัฐบาลหรือสหกรณ์ ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ยังมีนิติบุคคลอีกบางประเภทที่เข้าลักษณะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร แต่ได้รับการยกเว้นตามบทบัญญัติของกฎหมายต่างๆ ได้แก่

  • บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ตามสัญญาว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หรือทางเทคนิคระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ
  • บริษัทจำกัดที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
  • บริษัทจำกัดและนิติบุคคลที่มีสภาพเช่นเดียวกับบริษัทจำกัดซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่าง ประเทศได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
  • บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่อยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศไทย ตามเงื่อนไขที่กำหนดในอนุสัญญา

3. ภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์
อสังหาริมทรัพย์ ที่จำหน่านจ่ายโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองคือ บ้านและที่ดิน จะต้องมีการชำระภาษี ที่กรมที่ดิน ซึ่งกรมที่ดินมีหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีเงินให้จากการขายอสังหาริมทรัพย์

เงินที่ได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์
เงินที่ได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์แยกออกได้เป็น 4 ประเภท โดยยึดถือเจตนาจากการให้อสังหาริมทรัพย์นั้นมา ได้ดังนี้
1. เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมรดก
2. เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จากการให้โดยเสน่หา
3. เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยไม่ได้มุ่งทางการค้าหรือหากำไร
4. เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหืกำไร

4. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax - VAT) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า แวต เป็นภาษีทางอ้อมประเภทหนึ่งที่เรียกเก็บจากบุคคลที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการ โดยจัดเก็บเฉพาะจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นตอนของการผลิต การจำหน่ายหรือการให้บริการ

ตัวอย่างเช่น สมมติว่าอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 10 ซื้อวัตถุดิบ วัสดุอุปกรณ์มา 100 บาท และมีภาษีซื้อ 10 บาท เมื่อผลิตเป็นสินค้าขายในราคา 150 บาท ตอนขายไปจะต้องคิดภาษีขาย 15 บาท ดังนี้ ก็จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะผลต่างจำนวน 15-10 = 5 บาท เท่านั้น ถ้าการซื้อ และขายเกิดขึ้นภายในรอบการจ่ายภาษีเดียวกัน

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ บุคคล 3ประเภท คือ
  • ผู้ประกอบการ
  • ผู้นำเข้า
  • ผู้ที่กฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
5. ภาษีป้าย
ภาษีป้าย หมายถึง ภาษีที่จัดเก็บจากป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายที่ใช้ในการ ประกอบการค้า หรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้หรือโฆษณาการค้า หรือกิจการอื่นเพื่อหารายได้ ไม่ว่าจะแสดงหรือโฆษณาไว้ที่วัตถุใด ๆ ด้วยอักษร ภาพ หรือ เครื่องหมายที่เขียน แกะสลัก จารึก หรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่น

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย
  • เจ้าของป้าย หรือผู้ครอบครองป้าย

ระยะเวลาการชำระภาษี คือ มกราคม - มีนาคม ของทุกปี

การยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีป้าย
1. ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองป้ายยื่นแบบแสดงรายการภาษี ณ งานผลประโยชน์ ส่วน พัฒนารายได้ สำนักการคลัง เทศบาลนครเชียงราย ภายในเดือนมกราคม - มีนาคม ของทุกปี และต้องชำระภาษีภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน
2. ผู้ใดติดตั้งป้ายอันต้องเสียภาษีหลังเดือนมีนาคม หรือติดตั้งป้ายใหม่แทนป้ายเดิม หรือ เปลี่ยนแปลงแก้ไขพื้นที่ป้าย ข้อความ ภาพอันเป็นเหตุให้เสียภาษีเพิ่มขึ้น ให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายภายในวันที่ 15 นับแต่วันที่ติดตั้งหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไข

ขั้นตอนการชำระภาษีป้าย

การยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีป้าย ผู้เป็นเจ้าของป้ายจะต้องยื่น แบบ ภ.ป.1 ภายในเดือน มีนาคม ของทุกปี กรณีที่ติดตั้งป้ายใหม่จะต้องยื่นแบบ แบบ ภ.ป.1 ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ติดตั้งใหม่

การชำระเงินค่าภาษีป้าย
ผู้เป็นเจ้าของป้ายจะต้องชำระค่าภาษีป้ายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้แจ้งการประเมินหรือจะชำระค่าภาษีในวันที่ยื่นแบบเลยก็ได้ อัตราค่าภาษีป้าย
ป้ายประเภทที่ 1 หมายถึง ป้ายที่มีอักษรไทยล้วน คิดอัตรา 3 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
ป้ายประเภทที่ 2 หมายถึง ป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ หรือปนกับภาพและเครื่องหมายอื่นคิดอัตรา 20 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
ป้ายประเภทที่ 3 หมายถึง
ก ) ป้ายที่ไม่มีอักษรไทย ไม่ว่าจะมีภาพหรือเครื่องหมายใด ๆ หรือไม่
ข ) ป้ายที่ไม่มีอักษรไทยบางส่วน หรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศให้คิดในอัตรา 40 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
เมื่อคำนวณพื้นที่ของป้ายแล้ว ถ้ามีอัตราภาษีต่ำกว่าป้ายละ 200 บาท ให้เสียภาษีป้ายคนละ 200 บาท

6. ภาษีการค้า
ภาษีการค้าเป็นภาษีทางอ้อมซึ่งจัดเก็บจากผู้ประกอบการค้า และผู้ที่ถือว่าประกอบการค้าตามอัตราที่กำหนดไว้ ภาษีการค้าเป็นภาษีที่ผู้ประกอบการค้าสามารถผลักภาระให้ผู้บริโภครับภาระภาษีโดยไม่รู้ตัวเพราะนำเอาไปรวมกับราคาสินค้าได้

ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีการค้า
- ผู้ที่เป็นผู้ประกอบการค้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้า ดังต่อไปนี้
  • การขายของ
  • โรงสีและโรงเลื่อย
  • การขายหลักทรัพย์
  • การรับจ้างทำของ
  • การให้เช่าทรัพย์สิน
  • คลังสินค้า
  • โรงแรมและภัตตาคาร
  • การขนส่ง
  • โรงรับจำนำ
  • นายหน้าและตัวแทน
  • ธนาคาร
  • ประกันภัย

-ผู้ที่กฎหมายถือว่าเป็นผู้ประกอบการค้า

  • การนำเข้าในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าตามประเภทการค้า ๑.
  • ผู้ประกอบการค้าตามประเภท ๑ และประเภทการค้า ๒ ส่งสินค้าที่ตนประกอบการนั้นออกนอกราชอาณาจักร
  • ผู้ประกอบการค้าตามประเภท ๑ และประเภทการค้า ๒ นำสินค้าที่ตนประกอบการนั้นไปใช้หรือโอนกรรมสิทธิ์หรือโอนการครอบครอง
  • การที่ผู้นำเข้าโอนกรรมสิทธิ์หรือโอนการครอบครองซึ่งสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีการค้าตามมาตรา ๗๙ ตรี หรือนำสินค้านั้นไปใช้ในการใดๆที่ไม่ใช่การผลิตของตนเอง
  • การทำหรือดัดแปลง หรือให้ผู้อื่นดัดแปลงสิ่งใดๆให้เข้าลักษณะเป็นสินค้าประเภท ๑
  • ผู้ประกอบการค้าตามประเภท ๑ และประเภทการค้า ๒ มีสินค้าเกินจากบัญชีคุมสินค้า ขาดจากบัญชีคุมสินค้าหรือมีสินค้าโดยไม่ทำหรือไม่ลงบัญชีคุมสินค้า
  • ผู้ประกอบการค้าตามประเภท ๑ และประเภทการค้า ๒ มีสินค้าคงเหลือ ณ วันเลิกประกอบการค้า หรือวันโอนกิจการและผู้ประกอบการค้ายังมิได้เคยเสียภาษีการค้าสำหรับสินค้านั้นมาก่อน